สำรวจแนวคิดการออกแบบ 10 Pavilion Highlight ในงาน World Expo 2025 ที่ผสมผสานนวัตกรรม ความยั่งยืน และวัฒนธรรมได้อย่างน่าสนใจ
- Wichuda Wanthanasin
- Mar 27
- 2 min read

ใกล้เข้ามาแล้วกับ Osaka World Expo 2025 งานอีเวนต์ระดับโลกที่จัดขึ้นทุก ๆ 5 ปี เป็นครั้งที่สองที่ประเทศญี่ปุ่นได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ หลังจากที่เคยจัดขึ้นเมื่อปี 1970 ซึ่งในปี 2025 นี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 13 เม.ย. - 13 ต.ค. ที่โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
ภายใต้ธีมหลักของงานอย่าง "Designing Future Society for Our Lives" รวบรวมผู้คนและนวัตกรรมจากทั่วโลกเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีและความร่วมมือระดับโลก
โดยหนึ่งในไฮไลท์หลักของงานคือ Pavilion หรืออาคารแสดงผลงานของแต่ละประเทศ ซึ่งออกแบบมาให้สะท้อนถึงแนวคิด นวัตกรรม และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศนั้น ๆ จัดแสดงอยู่ในวงแหวนโครงสร้างไม้อย่าง The Grand Ring วันนี้ InnovatorX จะพาไปสำรวจ 10 Pavilion Highlight ที่ผสมผสานนวัตกรรม ความยั่งยืน และวัฒนธรรมได้อย่างน่าสนใจ ภายในงานกันครับ

1.ประเทศญี่ปุ่น (Japan Pavilion)
พาวิลเลียนเจ้าภาพ ภายใต้ธีม "Between Lives" สื่อสารเกี่ยวกับวัฏจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงที่หล่อหลอมชีวิตของพืช สัตว์ และสังคม ออกแบบโดยบริษัท Nikken Sekkei Ltd. โครงสร้างของพาวิลเลียนมีลักษณะเป็นรูปทรงที่สามารถเดินวนเข้าไปข้างใน สะท้อนถึงวงจรชีวิตและการหมุนเวียนของธรรมชาติที่ทุกสิ่งเชื่อมต่อกัน สื่อถึงการเกิดใหม่และการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องของสิ่งมีชีวิต
ภายในพาวิลเลียนมีงานจัดแสดงที่เน้นถึงวงจรชีวิตและการหมุนเวียนของธรรมชาติ มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการรักษาสมดุลของธรรมชาติและสังคม นำเสนอผ่านเทคโนโลยีสุดล้ำและการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น

2.ประเทศสหรัฐอเมริกา (USA Pavilion)
พาวิลเลียนของประเทศอเมริกามีชื่อว่า "Imagine What We Can Create Together" ออกแบบโดยบริษัท Trahan Architects เน้นการแสดงด้านนวัตกรรมและความร่วมมือของสหรัฐอเมริกาในด้านต่าง ๆ เช่น ความยั่งยืน การสำรวจอวกาศ การศึกษา และการประกอบการ
โครงสร้างที่โดดเด่นของพาวิลเลียน ประกอบด้วยอาคารสองหลังทรงสามเหลี่ยมที่มีผนังไม้และลูกบาศก์ที่ลอยอยู่เหนือกลางอาคาร เป็นสัญลักษณ์ของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ติดตั้งจอ LED สองจอที่ฉายภาพสถานที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังใช้วัสดุที่ยั่งยืนและนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น เหล็กและผ้าเต็นท์จากโครงสร้างที่ถูกถอดจากโอลิมปิกโตเกียว 2020 เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ภายในมีงานจัดแสดงหลากหลาย ทั้งดนตรี ศิลปะ นวัตกรรมด้านอวกาศและเทคโนโลยี AI ฯ ที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายและรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอเมริกา

3.ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Swiss Confederation Pavilion)
พาวิลเลียนได้รับการออกแบบโดย Manuel Herz Architects โดยมีลักษณะเป็นกลุ่มของทรงกลมที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งสื่อถึงการผสมผสานระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม โครงสร้างนี้ถูกออกแบบให้มีน้ำหนักเบาและมีคาร์บอนฟุตพริ้นต์ต่ำที่สุดในงาน Expo 2025
ภายในพาวิลเลียนประกอบด้วย
พื้นที่นวัตกรรม: นำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสวิตเซอร์แลนด์
ประสบการณ์เชิงโต้ตอบ: มีกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วมและเรียนรู้ผ่านการโต้ตอบไปมา
นิทรรศการ Swissnex: แสดงผลงานและความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัย และนวัตกรรม
พื้นที่จัดกิจกรรมอเนกประสงค์: สำหรับการจัดสัมมนา การอภิปราย และกิจกรรมต่าง ๆ
ร้านค้า: จำหน่ายสินค้าจากสวิตเซอร์แลนด์
พื้นที่อาหารและเครื่องดื่ม: ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม

4.ประเทศจีน (China Pavilion)
นำเสนอปรัชญาจีนที่ว่า มนุษย์ต้องเคารพธรรมชาติ ปฏิบัติตามวิถีของธรรมชาติและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ได้รับแรงบันดาลใจจากม้วนกระดาษไผ่และมีรูปทรงคล้ายกับม้วนพู่กันจีนที่ถูกคลี่ออก สื่อถึงความต่อเนื่องของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์จีน
ภายในพาวิลเลียนจัดแสดงภูมิปัญญาทางนิเวศวิทยาและนวัตกรรมของจีน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

5.ประเทศซาอุดีอาระเบีย (Saudi Arabia Pavilion)
นำเสนอการเดินทางผ่านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของซาอุดีอาระเบีย สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศและความมุ่งมั่นสู่อนาคตที่ยั่งยืน โชว์นวัตกรรมด้านพลังงานทางเลือก จำลองหมู่บ้านแบบดั้งเดิม ภายในพาวิลเลียนจะประกอบด้วยโครงสร้างทรงเหลี่ยม ถนนทางเดินคดเคี้ยว สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของประเทศ
ภายในมีการจัดแสดงที่หลากหลาย เพื่อแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของซาอุดีอาระเบียจากการพึ่งพาน้ำมันไปสู่การเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ มีทั้งหัตถกรรมดั้งเดิม ดนตรี กวีนิพนธ์ และการแสดงของดีเจที่จะมาให้ความสุขแก่ผู้เข้าชม

6.ประเทศออสเตรเลีย (Australia Pavilion)
พาวิลเลียนที่มีการไล่เฉดสีสะดุดตา ออกแบบโดยสตูดิโอ Buchan นำเสนอความงามทางธรรมชาติของออสเตรเลีย ภายใต้ธีม "Chasing the Sun" คือความมีชีวิตชีวาและความหลากหลายของออสเตรเลีย ทั้งในด้านผู้คน วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
ภายในพาวิลเลียนจัดแสดง
ประสบการณ์ผู้เข้าชม : ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครผ่านการจัดแสดงที่น่าตื่นตาตื่นใจ ผ่านสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และวัฒนธรรมที่หลากหลายและเก่าแก่ของออสเตรเลีย
การแสดงสด : โปรแกรมการแสดงศิลปะ วัฒนธรรม และความบันเทิงที่เป็นเอกลักษณ์ของออสเตรเลีย
อาหารและเครื่องดื่ม : ให้ผู้เข้าชมได้ลิ้มลองอาหารและเครื่องดื่มจากออสเตรเลีย เพื่อให้ได้สัมผัสถึงความเป็นออสเตรเลียผ่านวัฒนธรรมอย่างอาหาร

7.ประเทศสิงคโปร์ (Republic of Singapore Pavilion)
"The Dream Sphere" ออกแบบโดยบริษัท DP Architects เป็นพาวิลเลียนทรงกลมสูง 17 เมตร ที่ห่อหุ้มด้วยแผ่นดิสก์ทรงกลมทำจากวัสดุรีไซเคิล ได้รับแรงบันดาลใจจาก "Little Red Dot" สัญลักษณ์ของสิงคโปร์
ภายในพาวิลเลียนจัดแสดง
นิทรรศการ: ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกับการจัดแสดงศิลปะและสื่อมัลติมีเดียเชิงโต้ตอบจากศิลปินสิงคโปร์ เช่น Ashley Yeo, Jerrold Chong, Melissa Tan และ Zul Mahmod
อาหารและเครื่องดื่ม: นำเสนออาหารและนวัตกรรมที่สร้างขึ้นของสิงคโปร์ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและนวัตกรรมของประเทศ

8.ประเทศเยอรมนี (Germany Pavilion)
มีชื่อว่า "Wa! Germany" ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิก LAVA นำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมีการจัดพื้นที่สีเขียว ตัวอาคารมีลักษณะเป็นโครงสร้างทรงกลมที่สามารถเดินผ่านได้ สร้างขึ้นจากวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด ออกแบบโดยเน้นให้เป็นสถาปัตยกรรมและการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน เพื่อแสดงถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
ภายในจัดแสดงนิทรรศการที่เน้นการหมุนเวียนของวัสดุและทรัพยากร รวมถึงการใช้วัสดุรีไซเคิลและการออกแบบที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของสถาปัตยกรรมต่อสิ่งแวดล้อม

9.ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates Pavilion)
ได้รับแรงบันดาลใจจากต้นปาล์มซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญในวัฒนธรรมเอมิเรตส์ ใช้วัสดุจากก้านใบปาล์มที่เป็นขยะเหลือทิ้งจากการเกษตร ผสมผสานกับเทคนิคการก่อสร้างไม้แบบญี่ปุ่น แสดงถึงความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์และการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม
ภายในพาวิลเลียนจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าและนวัตกรรมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในด้านต่าง ๆ เช่น การดูแลสุขภาพ การสำรวจอวกาศ และเทคโนโลยีที่ยั่งยืน

10.ประเทศไทย (Thailand Pavilion)
ประเทศไทยเราเองก็จัดแสดงพาวิลเลียน ออกแบบโดยบริษัท สถาปนิก 49 (A49) ภายใต้แนวคิด "ภูมิพิมาน : ดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน" (Bhumipiman–the Land of Immunity) ได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมไทยแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะหลังคาทรง "จอมแห" ที่มีความลาดชันหลายชั้น เพื่อสะท้อนถึงเอกลักษณ์ไทย
ภายในพาวิลเลียนจัดแสดง
ภายในพาวิลเลียนจะมีการจัดแสดงในห้าหมวดหมู่หลักที่เน้นความเป็นเลิศของประเทศไทยในด้านนวัตกรรมและภูมิปัญญาด้านสาธารณสุข
การแพทย์แผนไทย : เน้นความสำคัญของการรักษาที่ผสมผสานระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
สมุนไพรและอาหารเพื่อสุขภาพ : นำเสนอประโยชน์ของสมุนไพรไทยในอาหารและการดูแลสุขภาพ
นวดแผนไทย : สาธิตและสื่อถึงคุณค่าของการนวดแผนไทยที่ได้รับการยอมรับจากยูเนสโก
การแพทย์สมัยใหม่ : แสดงถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยในระบบการแพทย์ร่วมสมัย
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ : นำเสนอประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ
โดย Pavilion ทั้งหมดในงานจะอิงตามแนวคิด Circular Economy คือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้วัสดุใน Pavilion สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ อีกทั้งยังส่งต่อให้แก่ผู้ที่ต้องการต่อไปได้ด้วย
นอกเหนือจาก 49 Pavilion ภายใน Grand Ring แล้ว ยังมี Domestic Pavilion ที่ตั้งอยู่ขอบนอกของ Grand Ring และ 8 Signature Pavilion จาก 8 โปรดิวเซอร์ ที่ตีความธีมหลักของงานให้เกิดเป็น Exibition ในแบบของตัวเอง ตั้งอยู่ใจกลางงานอีกด้วย ซึ่งแต่ละ Pavilion ก็มีกิจกรรมให้เราได้ลองเล่น ได้หาแรงบัลดาลใจเพื่อสร้างสรรค์สังคมและอนาคตใหม่ไปพร้อมกัน
เรียกได้ว่าเป็นงาน Expo ระดับโลกที่ยิ่งใหญ่และพลาดไม่ได้เลยนะครับ หากสนใจเกี่ยวกับงานสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ของงานได้เลย!
อ้างอิง
Expo 2025