top of page
Writer's pictureInnovatorX

Key Takeaway : แนวทางการวัดและประเมินค่าคาร์บอนฯ ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ และการวางเป้าหมายองค์กรในอุตสาหกรรมอสังหาฯ เพื่อเตรียมเข้าสู่ Net Zero


จากสภาวะโลกร้อนในปัจจุบันที่เกิดภัยธรรมชาติ อย่างปีค.ศ. 2022 ที่ผ่านมาไม่นานนี้ กับภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ประเทศปากีสถาน ด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดฝนมรสุมรุนแรงจนเกิดน้ำท่วมสูง สาเหตุที่ฝนตกอย่างรุนแรงนี้ก็เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส


หากจะเปรียบเทียบว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะส่งต่อสภาพแลดล้อมอย่างไร สามารถสรุปให้พอเห็นได้ตามระดับ ดังนี้

  • อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส : สัตว์เฉพาะถิ่น เช่น หมีขั้วโลก, เพนกวิน มีโอกาสสูญพันธ์เพิ่มขึ้น

  • อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2.0 องศาเซลเซียส : แนวปะการังทั่วโลกลดลงมากกว่า 99%

  • อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 3.0 องศาเซลเซียส : ขั้วโลกเหนือจะไม่มีน้ำแข็งในหน้าร้อน, ป่าแอมะซอนจะแห้งแล้งหนัก และเทอกเขาแอลป์จะไม่เหลือชั้นน้ำแข็ง

  • อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 4.0 องศาเซลเซียส : น้ำทะเลจะสูงขึ้น 9 เมตรและ 470-760 ล้านคนทั่วโลก เสี่ยงอุทกภัยร้ายแรง


ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ปากีสถานนั้นค่อนข้างได้รับผลกระทบติดอันดับบนๆ ของโลกเมื่อเกิดสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอากาศมากขึ้น โดยติดเป็นอันดับ 8 ของโลก ในขณะที่ไทยนั้นอยู่อันดับติดกันคือ อันดับที่ 9 ของโลก เพราะฉะนั้นประเทศไทยจึงมีความเสี่ยงสูงที่เจอกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน


ประเภทของก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิด Carbon Footprint 


และสิ่งที่ก่อให้เกิดโลกร้อนก็คือ “ก๊าซเรือนกระจก” ที่ UNFCCC (กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) กำหนดมีทั้งหมด 7 ชนิด ประกอบด้วย

  • ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 

  • ก๊าซมีเทน (CH4) 

  • ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) 

  • กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) 

  • กลุ่มก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) 

  • ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) 

  • ก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3)


และก๊าซที่ร้ายแรงมากที่สุดคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่จะมีการวัดค่าการปล่อยที่เรียกว่า “Carbon Footprint” โดยที่โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมหาศาลเทียบเป็น 48,900 ล้านตัน/ปี ถ้าเทียบให้เห็นภาพ 1 ตันก็เปรียบเหมือนบอลลูนท่องเที่ยว 1 ลูก เพราะฉะนั้นที่โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดก็คือ 48,900 ล้านลูก ที่แทบจะปกคลุมรอบโลกก็ว่าได้ ขณะที่ประเทศไทยมีการปล่อยอยู่ที่ 373 ล้านตัน/ปี


ในเรื่องการปรับตัวเข้าสู่ Net Zero คือการวัดค่าว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปเท่าไหร่ ต้องดูดกลับคืนมาเท่ากับที่ปล่อย เพื่อให้ค่ากลายเป็นสุทธิหรือศูนย์ เปรียบเหมือนกับการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย สำหรับการดูดกลับของก๊าซเรือนกระจกจะต้องเพิ่มแหล่งกักเก็บเอาไว้ โดยระหว่างทางที่องค์กรนั้นๆ กำลังเข้าสู่ Net Zero ในระยะเวลาหลายปีจะเรียกเส้นทางนี้ว่า “Net Zero Pathway” จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายได้


ภาคการก่อสร้างเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีการใช้งานอาคารจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 28% เพราะอาคารจะมีการใช้ไฟเยอะมากและใช้งานยาวนานต่อวัน อีกทั้งก่อนหน้านี้ที่เป็นการก่อสร้างก็จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 11% และขั้นตอนผลิตตัววัสดุก่อสร้างต่างก็มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือ Carbon Footprint ออกมาเช่นกัน 


Carbon Footprint คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์หรือกิจกรรมต่างๆ จากองค์กร ก่อนที่ไปสู่เส้นทางของ Net Zero องค์กรจะต้องรู้ก่อนว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เคยปล่อยมานั้นมีอยู่เท่าไหร่ เพื่อเป็นเป้าหมายที่จะบรรลุแล้วทำให้ปริมาณการปล่อยนั้นลดลงตามเป้า


เครื่องมือที่ช่วยประเมิน Carbon Footprint ในอุตสาหกรรมอสังหาฯ


ทาง TGO หรือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก นั้นมีการพัฒนาเครื่องมือที่เป็นแอปพลิเคชั่นและแพลตฟอร์มที่ให้เลือกใช้ตามแต่ละความเหมาะสม ได้แก่

Net Zero Man : แอปพลิเคชั่นสำหรับวัดค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของบุคคล

Zero Carbon : แอปพลิเคชั่นสำหรับใช้ในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการชดเชยคาร์บอนจากกิจกรรม ด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม MICE 

CFO Platform : แพลตฟอร์มรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับองค์กรที่ต้องการรายงานการคำนวณ


ทั้งนี้ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization) หรือ CFO จะเป็นการดูข้อมูลของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งการปล่อย การดูดกลับ ที่ปัจจุบันมีมากกว่าพันบริษัทที่ยื่นของการรับรอง CFO และในส่วนของบริษัทอสังหาริมทรัพย์/วัสดุก่อสร้าง มี 157 บริษัท จากทั้งหมดนี้จะมีการแบ่งการดำเนินงานขององค์กรด้าน CFO ไว้ 3 Scope คือ


Scope 1 :

เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง อาทิ การใช้น้ำมันดีเซลและแก๊สโซลีนสำหรับรถขององค์กรและรถพนักงานที่ใช้ในกิจกรรมขององค์กร เป็นต้น


Scope 2 :

เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมหรือก็คือการซื้อพลังงานเข้ามาใช้ อาทิ ปริมาณการใช้ไฟฟ้า


Scope 3 :

เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทาง Supply Chain เป็นการตรวจสอบถึงสินค้าที่ซื้อเข้ามาว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือไม่และจะต้องมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงไปเรื่อยๆ เพื่อเข้าสู่ Net zero


วิธีการประเมิน Carbon Footprint ในอุตสาหกรรมอสังหาฯ


1. ต้องเก็บข้อมูลของ Scope 1 ที่เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง เป็นระยะเวลา 12 เดือน ได้แก่ ข้อมูลการใช้ทรัพยากร ตามนี้

- ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล และแก๊สโซลีนสำหรับรถขององค์กร (ลิตร)- ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล และแก๊สโซลีนของรถพนักงานที่ใช้ในกิจกรรมขององค์กร (ลิตร)

- ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล ของ Generator (ลิตร)

- ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลของ Fire pump (ลิตร)

- ปริมาณการใช้สารดับเพลิง CO2, FM 200 (กก.)

- ปริมาณการเกิดมีเทนจากระบบบำบัดน้ำเสีย และSeptic tank

- ปริมาณสารทำความเย็น (กก.)


2. เก็บข้อมูล Scope 2 ที่เป็นการใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก ได้แก่

- ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำนักงานใหญ่ (kWh) 

- ปริมาณการใช้ไฟฟ้าก่อสร้างโครงการแนวราบ (kWh)

- ปริมาณพลังงานไฟฟ้าก่อสร้างโครงการสูง (kWh)


3. เก็บข้อมูล Scope 3 ที่ในภาคอสังหาริมทรัพย์จะมีเยอะมาก แต่ทาง TGO ได้คัดหลักๆ มาแล้ว ดังนี้

- คอนกรีต (ลบ.ม.)

- อลูมิเนียม (กก.)

- เหล็กเส้น (กก.)

- การได้มาของเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้า

จากนั้นข้อมูลที่เตรียมตามแต่ละ Scope จะเข้าสู่การคำนวณ CFO โดยสามารถกรอกข้อมูลได้ที่ https://cfo.tgo.or.th ผ่านโปรแกรมในแพลตฟอร์มของ TGO


การประเมิน Carbon Footprint ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง? 

ในบริษัทอสังหาริมทรัพย์พบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 70% มักอยู่ที่ Scope 3 กลายเป็นว่าการก่อสร้างนั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะกว่า Scope 2 ของการใช้ไฟฟ้ามากกว่าเสียอีก ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีความพิเศษกว่าภาคอื่น นั่นคือช่วงเวลาการเกิดวัฏจักรการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2 ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นเกิดจากการก่อสร้างของอาคาร (Embodied Carbon Emission) กับ ช่วงที่สองเกิดจากการใช้พลังงานในอาคาร (Operational Carbon Emission) 


ครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซคาร์บอนนั้นมาจากส่วนของ Operational Carbon Emission แต่ในอนาคตมีการคาดการณ์ไว้ว่าส่วนนี้จะลดน้อยลง เพราะจะมีการใช้ไฟฟ้าที่ได้มาจากพลังงานสะอาดเข้ามาแทนที่ ช่วยให้ลดการปล่อยคาร์บอนลงได้เยอะ เมื่อเทียบจากสถิติเดิมในปี ค.ศ. 2021 มี Operational Carbon Emission อยู่ 75% จะลดลงเหลือ 51% ในปี ค.ศ. 2050


ดังนั้นในระยะยาว สำหรับผู้ประกอบการเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างและธุรกิจการก่อสร้าง จะต้องหาแนวทางการปล่อยค่า Embodied Carbon Emission ให้ลดน้อยลง โดยคำนึงถึงการใช้วัสดุที่มี Carbon Footprint ต่ำไว้ก่อน และให้ความสำคัญกับวัสดุที่เป็นมิตรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากยิ่งขึ้น ต้องไม่สร้างผลกระทบหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป


ประเภทของฉลากที่รับรองเรื่องการปล่อย Carbon Footprint


จึงเป็นที่มาของสาเหตุการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลาก คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ Carbon Footprint of Product (CFP) ที่มีการคำนวณถึงผลรวมของการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ตลอดวัฏจักรชีวิต ด้วยการคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) และปัจจุบันมีกว่าหนึ่งหมื่นผลิตภัณฑ์ทั่วไปที่มีการรับรองจาก TGO ขณะที่ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่มีฉลาก CFP มีจำนวน 2,639 ผลิตภัณฑ์ จาก 99 บริษัท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอให้สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สำหรับ Scope 3 ในอุตสาหกรรมอสังหาฯ และการก่อสร้างที่ต้องการลด Carbon Footprint โดยฉลาก CFP มีอายุฉลาก 3 ปีนับจากที่ได้รับมา


เมื่อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากนี้แล้ว ในอนาคตต่อไป ถ้ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงอีก 2% จะได้รับ ฉลากลดโลกร้อน Carbon Footprint Reduction (CFR) ที่บ่งบอกว่าผ่านกระบวนการที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิต และผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่มีฉลาก CFR มี 375 ผลิตภัณฑ์ จาก 21 บริษัท


และยังมีฉลากที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่เป็น BCG ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์นั้นเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เป็นการนำขยะหรือของเสียกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่ากระบวนการเดิม เมื่อผลิตภัณฑ์นั้นมี Carbon Footprint ที่น้อยกว่าจึงจะได้รับฉลาก คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียน Carbon Footprint of Circular Economy Product (CE-CFP) และตอนนี้มีผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่มีฉลาก CE-CFP มี 85 ผลิตภัณฑ์ จาก 9 บริษัท 


นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการสร้างเป็นอาคารเขียว ที่รับรองได้ว่าอาคารนั้นจะไม่เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น

- TREES Certification 

- WELL Building Institute 

- G-GREEN

- LEED

- BEC (Building Energy Code)

- EDGE Zero Carbon Pledge


นโยบายและการให้การสนับสนุนจากทางภาครัฐ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO)


แล้วถ้ามองกลับมาที่นโยบายของประเทศไทย ณ ตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการจัดตั้งคณะทำงาน Thailand Taxonomy เพื่อขับเคลื่อนให้มีการจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไว้ใช้ประเมินการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ช่วยให้เกิดการปล่อยกู้ของธนาคารในรูปแบบ Green Loan, Green Finance มากขึ้น ตัวอย่าง เช่น ธนาคาร ธอส มีโครงการ Loan for Carbon Reduction Building ที่ให้สิทธิประโยชน์กับผู้ประกอบการที่มีการดำเนินการก่อสร้างอาคารคาร์บอนต่ำ เพื่อพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง


ในภาคของ TGO ก็จะมีการพัฒนาระบบการรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ที่มีการประกาศข้อกำหนดและแนวทางให้ทุกองค์กรได้เตรียมตัวเข้าสู่ Net Zero ว่าควรทำอะไรบ้าง หรือถ้าต้องการทราบรายละเอียดที่เกี่ยวกับ Carbon Footprint เพิ่มเติม สามารถติดตามข้อมูลที่ http://thaicarbonlabel.tgo.or.th



 

สรุปย่อแบบรูปภาพ






 

สรุป และเรียบเรียงโดย InnovatorX


ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่

Line OA : @innovatorx หรือ https://www.facebook.com/InnovatorXbyWazzadu



2 views

Comentários


bottom of page