เมื่อนโยบาย Net Zero ได้รับความสนใจมากขึ้นในทั่วโลกเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความรุนแรงของปัญหาการเผาไหม้ป่า การเกิดอุกกภัยน้ำท่วมและปัญหาทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้หลายประเทศตระหนักถึงการลงปฏิบัติอย่างจริงจังกับภัยของสภาวะโลกร้อน
และพอหันกลับมามองที่ประเทศไทย ในภาคธุรกิจใหญ่อย่างฝั่งอสังหาริมทรัพย์ก็มีบางที่เริ่มจัดวางนโยบายขององค์กรเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ยุคของ Net Zero ที่เป็นไปตามกฎหมายและการบังคับใช้ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) แต่จะมีเจ้าไหนบ้างที่เริ่มต้นนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในบทความนี้มีคำตอบมาฝาก
เริ่มจากผู้ที่ผลักดันในเรื่อง Net Zero อย่างหนักหน่วงกับ “บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)” หรือ Sansiri ที่มีแผนจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจโดยตรงของบริษัทให้ได้ 20% ภายในปี 2025 (พ.ศ.2568) และลดก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ที่ 50% ในปี 2033 (พ.ศ. 2576) โดยมีเป้าหมายสูงสุดสู่การเป็น “องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” ให้ได้ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) ผ่าน 3 กลยุทธ์ ได้แก่
กลยุทธ์ที่ 1 : ก้าวสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ
- มุ่งประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับการการใช้นวัตกรรมเพื่อพลังงานสะอาดเป็น 100% ภายในปี 2025 (พ.ศ.2568)
- โดยผ่านการขยายแผนการติดตั้ง Solar Roof และ EV Charger ให้กับบ้านแสนสิริทุกหลังทุกระดับราคา
- ติดตั้ง Solar Roof ในคลับเฮาส์ของทุกโครงการใหม่แสนสิริ
- ติดตั้งระบบสูบน้ำและบำบัดน้ำเสียพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Water Treatment Pump) ในพื้นที่ส่วนกลางของทุกโครงการ
- เปลี่ยนรถส่วนกลางของบริษัทให้เป็นรถ EV 100% และเปลี่ยนการใช้น้ำมันของเครื่องจักรทุกชนิดมาใช้พลังงานไบโอดีเซล 100%
กลยุทธ์ที่ 2 : ออกนโยบายด้านธรรมาภิบาลเพื่อลดคาร์บอนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ภายใต้การดำเนินการ 3G ได้แก่
- Green Procurement เลือกคู่ค้าที่ใส่ใจกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน ใช้วัสดุในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรและนำกลับมาใช้ใหม่ (Circular Economy) และพร้อมจัดซื้อวัสดุ Low-carbon ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันที่เกี่ยวข้อง ในสัดส่วน 30% ของวัสดุที่ผ่านการจัดซื้อโดยแสนสิริ ภายในปี 2025 (พ.ศ.2568)
- Green Architecture & Design ออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อการใช้ชีวิตที่ยั่งยืน เช่น Cooliving Designed Home นวัตกรรมบ้านเย็นช่วยประหยัดพลังงาน, Zero Waste Design การออกแบบที่ลดปริมาณขยะให้มากที่สุด, Universal Design การออกแบบที่ครอบคลุมการใช้งานของผู้อยู่อาศัยทุกวัย รวมทั้งผสมผสานแนวคิด Well-being ให้ความสำคัญสูงสุดด้านคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งสะอาดปราศจากเชี้อโรคและมีอากาศบริสุทธ์
- Green Construction การก่อสร้างและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีวัสดุเหลือใช้เป็นศูนย์ ตลอดจนใช้นวัตกรรมในการพัฒนาโครงการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อย่นเวลาในการก่อสร้างให้มากที่สุดและก่อเกิด waste น้อยที่สุด
กลยุทธ์ที่ 3 : การลงทุนในนวัตกรรมสีเขียว ลงทุนในบริษัทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้ลงทุนไปแล้ว 3 บริษัท คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 120 ล้านบาท
นอกจากนี้ Sansiri ยังมีการศึกษาวิจัยด้านนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น การใช้ AI ในการคำนวณการประหยัดพลังงานของที่อยู่อาศัย, การใช้ไฟเบอร์แทนเหล็กเส้นในการก่อสร้าง, กระเบื้องลอนมุงหลังคาที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ในปีถัดๆ ไป พวกเราเองก็คงได้เห็นนวัตกรรมเหล่านี้จากโครงการของแสนสิริ
มาที่บริษัทอสังหาฯ รายต่อไป “เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)” หรือ Sena ที่มุ่งหน้าสู่ที่พักอาศัยแบบยั่งยืน พร้อมเดินหน้าพัฒนาให้เกิดการใช้พลังงานเป็นศูนย์ หรือ Zero Energy Housing (ZEH) และสร้างคอนโดพลังงานสะอาด หรือ คอนโด Low Carbon ที่นำเทคโนโลยีมาผสานกับพลังงานสะอาด เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับกลุ่มลูกบ้านมากขึ้น แถมยังช่วยลดโลกร้อนไปในคราวเดียวกัน
จากแนวคิด “The Essential Lifelong Trusted Partner” ในความตั้งใจที่อยากสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกค้าในทุกช่วงชีวิต ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม โดยได้วางเป้าหมายการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน (Sustainability) ทาง Sena จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาและออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนไว้ตั้งแต่แรก เพื่อลดการใช้พลังงานให้น้อยลง แล้วมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Society) เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและเกิดเป็นความยั่งยืนในทุกมิติของสังคม
และด้วยแนวคิดบ้านพลังงานเป็นศูนย์ของ Sena นั้นสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานของธนาคารหลายแห่ง อย่าง ธนาคารออมสิน, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารกรุงเทพ ที่เน้นนโยบายเกี่ยวกับการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้มอบสิทธิพิเศษทั้งวงเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าของโครงการ Sena ที่ขอยื่นกู้ซื้อบ้านใหม่พร้อมติดตั้งโซลาร์รูฟ ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮมและคอนโด โดยสามารถยื่นขอรับสินเชื่อพิเศษนี้ได้ที่โครงการของ Sena อีกด้วย ถือว่าเป็นการวางแผนด้านกลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจไม่น้อย
ปิดท้ายด้วยนโยบายของ “บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)” หรือ Areeya ที่มีการวางกลยุทธ์แบบ “Sustainable Happiness” สำหรับการเตรียมตัวสู่ Net Zero 2050 (พ.ศ.2593) ผ่านการดำเนินงานใน 4 ภารกิจสำคัญ ได้แก่
1. หมู่บ้านปลอดขยะ :
เริ่มจากการปลูกฝังให้ลูกบ้าน Areeya Family มีการแยกขยะอย่างถูกวิธี ด้วยการมอบถังแยกขยะและจับมือกับ แบรนด์ HUPPO มอบเครื่อง Food Waste Decomposer ที่ช่วยเปลี่ยนขยะจากเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย ให้กับบ้านทุกหลังในโครงการใหม่ของ Areeya และยังเตรียมแผนสร้างคุณค่าให้กับขยะ Recycle ด้วยการผลักดัน Upcycling โดยนำขยะพลาสติก กระดาษ และวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ที่ถูกทิ้งแล้วมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการสร้างสรรค์เป็น Upcycle Product ที่สามารถใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้กับลูกบ้าน Areeya Family อีกด้วย
2. เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน :
โดยมีแอปพลิเคชัน “Recycle Time” จะมีทีมงานเข้ารับขยะรีไซเคิลของลูกบ้าน Areeya Family ที่คัดแยกไว้ถึงหน้าบ้านและมีตารางการเก็บขยะให้ดูข้อมูลสถานะและสามารถเก็บเป็นยอดเงินสะสมในบัญชีแบบ Real Time ทำให้ลูกบ้านสามารถสะสมยอดเงินได้ไม่จำกัด ปัจจุบันสามารถแยกขยะไปแล้วกว่า 266 ตัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กว่า 4 หมื่นต้น และจากความสำเร็จของโครงการนี้ ทำให้ในปี พ.ศ.2564 Areeya ได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าชเรือนกระจกจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
3. ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า :
ทาง Areeya ติดตั้งเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า EV Charger รองรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในโครงการต่างๆ และรวมทั้งอาคารสำนักงานใหญ่ของ บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เองด้วย อีกทั้งยังมีการจัดแคมเปญ “COLORS FREEVERRR” ซื้อบ้านแถมรถ โดยมอบ รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ในเมือง สำหรับลูกค้าที่จอง และโอนฯ โครงการ The Colors
4. ช่วยลดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการก่อสร้าง :
เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลงและต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการป้องกันกับลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงให้ความสำคัญกับการจัดการกับของเสีย หรือ Waste Management ในกระบวนการก่อสร้าง เพื่อทำให้ทุกโครงการของบริษัทได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
ด้วยความตั้งใจของ Areeya ที่อยากให้ทั้งลูกบ้านและพนักงานใส่ใจกับเรื่องทรัพยากรเพื่อให้โครงการปลอดขยะมากขึ้น ปลูกฝังให้มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องมลพิษได้อย่างยั่งยืน
จาก 3 องค์กรระดับท็อปกับ 3 นโบบายนี้ เป็นเรื่องราวการเตรียมตัวของภาคธุรกิจอสังหาฯ ต่อไปในอนาคต ที่เราน่าจะได้เห็นรูปแบบใหม่ๆ ของที่พักอาศัยในโครงการดังกล่าว ว่ามีความรักษ์โลกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น และทำให้มาตรฐานของโครงการอสังหาริมทรัพย์ขยับไปสู่เส้นทางดี สอดคล้องไปกับแนวทางของ Net Zero ในปี 2050
อ้างอิง
Sansiri
Sena
Areeya
Comments