มีใครเคยสงสัยบ้างไหมว่าเรื่องปัญหาโลกร้อนที่พวกเรากำลังแก้ไขและปรับปรุงกันอยู่จากความร่วมมือทั้งในประเทศหรือต่างประเทศร่วมกัน เวลาที่ทั่วโลกจะนัดหมายเพื่อหารือ หรือมาแลกเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นกันนั้น ใครจะมีการสื่อสารกันอย่างไร? พบเจอที่ไหน? หรือทำอย่างไรให้มีการตกลงวาระสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับ Climate Change ในทุกๆ ปี
คอนเทนต์ของคอลัมน์ Net Zero X ขอเปิดตอนแรกในปี 2024 มาพูดถึงการประชุม COP ให้เพื่อนๆ ได้รู้จักกันมากขึ้น บางคนอาจเคยได้ยินผ่านๆ มา งั้นมาทบทวนกันสักนิด ว่า COP นี่คืองานอะไร แต่ก่อนจะพูดถึงประเด็นเรื่องสำคัญในงาน COP28 ว่าทางประเทศไทยมีข้อเสนอในที่ประชุมเกี่ยวกับอะไรบ้าง
COP คืองานประชุมอะไร?
“Conference of the Parties” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าการประชุม COP คือ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ที่ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ในการประชุมจะมีการหารือสำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาและทำการเกี่ยวกับข้อตกลงต่างๆ เพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส โดยตั้งพยายามรักษาไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อที่ป้องกันปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือ การลดการปล่อยคาร์บอนจนกระทั่งมีผลลัพธ์เป็นศูนย์ภายในปี 2050
การประชุม COP นับว่าเป็นการประชุมประจำปี ที่จะให้ผู้ตัดสินใจสำคัญทางการเมืองและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมารวมตัวกันเพื่อพิจารณาและตกลงกับมาตรการที่จะช่วยเรื่องของ Net Zero รวมถึงมีการติดตามและรายงานผลการปฏิบัติของประเทศต่างๆ ว่ามีการลดก๊าซเรือนกระจกกับวิธีการปรับตัวเข้าสู่ Net Zero Emission เป็นอย่างไรบ้าง
ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้หลายประเทศตระหนักถึงภารกิจที่ยิ่งใหญ่ จากประชุมในแต่ละครั้งมีประเด็นหรือข้อตกลงอะไรที่ทางประเทศไทยควรเตรียมตัวเพื่อให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสเทรนด์จากทั่วโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น
การประชุม COP มีความสำคัญกับประเทศไทยอย่างไร?
เพราะแทบจะเป็นเวทีการประชุมหลักที่รวมสมาชิกระดับนานาชาติได้เยอะที่สุด เพื่อนำมาสู่วาระการแลกเปลี่ยน เจรจาและทำข้อตกร่วมกันระหว่างประเทศ เพื่อให้ฝั่งผู้ที่ก่อมลพิษปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้รับทราบผลกระทบจากอีกฝั่งและวางแผนชดเชยว่าจะทำอย่างไรให้เข้าใกล้กับเป้าหมายในปี 2050 ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเจอกับสภาวะ Climate Change ด้วยภูมิประเทศและมีความน่าเป็นห่วงว่าอาจเกิดวิกฤตเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศได้มากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีมาตรการป้องกันที่เด็ดขาด
จากการเข้าร่วมการประชุม COP28 ที่ผ่านมาเมื่อ วันที่ 30 พ.ย. - 12 ธ.ค. 2023 ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทางตัวแทนประเทศไทย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าร่วมหารือในการประชุมครั้งนี้และให้ความร่วมมือที่จะจัดการปัญหาโลกร้อน พร้อมขยายโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน เทคโนโลยี องค์ความรู้ต่างๆ ที่มาแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารและประสบการณ์การทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานเตรียมการทำงานของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
4 ประเด็นสำคัญสำหรับการประชุมรัฐภาคี COP 28 ที่ประเทศไทยเสนอ
1. การขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก ระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่
2. เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3. กลไกการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุนสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต
4. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ
จากประเด็นดังกล่าวในปีต่อไป เราน่าจะได้การเปลี่ยนแปลงทั้งของภาครัฐและเอกชนที่มุ่งนโยบายไปสู่ทิศทางนี้มากขึ้น เนื่องด้วยข้อเสนอดังกล่าวมาจากผลสำเร็จของการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (TCAC 2023) ที่บ่งบอกและ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่ขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายของประเทศร่วมกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
BBC News
SDG MOVE
Greenpeace
Comments