มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ โอลิมปิก 2024 ที่มหานครปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับพิธีเปิด และการจัดการแข่งขันกีฬาต่างๆ ก็มีทั้งกลุ่มที่ชื่นชม และกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์ แต่สำหรับกลุ่มที่ชื่นชอบในงานสถาปัตยกรรม งานออกแบบ และประวัติศาสตร์ ...กีฬาโอลิมปิก 2024 เป็นงานที่มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ให้ชวนขบคิดถึงไอเดียที่แปลกใหม่อยู่ไม่น้อย
ในยุคอดีตประเทศที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกก็มักจะทุ่มทุนมหาศาล กับการสร้าง Iconic Venue/Stadium ขึ้นมาใหม่ อย่างยิ่งใหญ่อลังการ และทันสมัย เพื่อสร้างความจดจำ แสดงถึงความก้าวหน้าของประเทศเจ้าภาพ
ในมุมดีๆ ก็มีเยอะกับการทุ่มทุนมหาศาล แต่มุมที่ไม่ดีก็มีอยู่ไม่น้อย ปัญหาใหญ่ที่ตามมาหลังจบงาน คือ บางประเทศไม่มีงบดูแลรักษา และซ่อมบำรุง จนทำให้สนามกีฬา หรือ อาคารสถานที่ต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันถูกทิ้งร้าง หรือ ปล่อยให้ทรุดโทรม โดยไม่มีการใช้ประโยช์ใดๆ ต่อ จนทำให้บางประเทศที่เคยเป็นเจ้าภาพเป็นหนี้มหาศาลจากการทุ่มทุนจัดงาน เช่น กรีซ และบราซิล
นั่นจึงทำให้การจัดโอลิมปิก หลังปี 2012 ที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร เป็นเจ้าภาพ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้มีการปรับกลยุทธ์ในการจัดงานใหม่ เพื่อลดการใช้งบประมาณมหาศาลโดยไม่จำเป็น และให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
จากเดิมที่จะต้องเน้นสร้างสนามกีฬาขึ้นมาใหม่ ก็หันมาใช้รูปแบบการก่อสร้างสนามกีฬาแบบ Modular ที่ทำมาจากวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และปรับลดขนาดหลังจบการแข่งขัน จัดการได้ง่าย หรือ สามารถรื้อถอนนำไปประกอบใหม่ในที่อื่นๆ ได้ตามความเหมาะสม เป็นการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable/Low Carbon) ทั้งในด้านการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ลดการใช้พลังงาน และการสร้างขยะ
รวมไปถึงแนวคิดการนำสถาปัตยกรรมของเมืองที่มีความสำคัญ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ (Historical Iconic Architecture) นำมาปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสนามกีฬาชั่วคราวในรูปแบบที่แปลกตา โดยให้ความรู้สึกผสมผสานเสมือนกับการได้มาท่องเที่ยวและดูกีฬาไปพร้อมๆ กันได้อีกด้วย โอลิมปิก 2024
ฝรั่งเศส จึงคลอดกลยุทธ์ “Sport Beyonds Stadiums & Arenas” ขึ้นมา ซึ่งเราจะพาไปดูกันว่า Historical Venue ที่น่าสนใจจะมีที่ไหนกันบ้าง และมีที่มาที่ไปอย่าง (คัดมาเฉพาะที่เด่นๆ และสำคัญ)
Eiffel Tower Stadium
ใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬา :
วอลเลย์บอลชายหาด
หอไอเฟล สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของงานแสดงสินค้าโลกใน ค.ศ. 1889 แม้ในช่วงแรกจะได้รับการวิจารณ์จากศิลปินและสถาปนิกชั้นนำของประเทศในด้านการออกแบบ
แต่ในเวลาต่อมาหอไอเฟลได้กลายเป็นสัญลักษณ์แสดงความยิ่งใหญ่ของประเทศความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ ความสวยทางศิลปะและสถาปัตยกรรม ในปัจจุบันหอไอเฟลมีอายุ 135 ปีแล้ว
Grand Palais
ใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬา :
เทควันโด
ฟันดาบ
กร็องปาแล เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของกรุงปารีส เพื่อใช้สำหรับจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ ในปี ค.ศ. 1900 ตัวอาคารมีลักษณะแบบสถาปัตยกรรมโบซาร์ มีลักษณะเด่น คือ รายละเอียดโดยรอบบนหน้าบันที่สลักจากหิน และการออกแบบพื้นที่ใช้สอยที่มีความทันสมัยเป็นอย่างมากในยุคนั้น
และใช้นวัตกรรมใหม่ในการก่อสร้าง อาทิเช่น โครงหลังคาเหล็กประดับกระจก และการใช้คอนกรีตเสริมแรงในการก่อสร้างในปัจจุบันกร็องปาแล มีอายุ 124 ปีแล้ว
Palace of Versailles
ใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬา :
ขี่ม้า
พระราชวังแวร์ซายส์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปารีส แต่เดิมเคยใช้เป็นที่พักล่าสัตว์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ในปี ค.ศ. 1624 ได้รับการขยายและพัฒนาครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งต้องการให้พระราชวังแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความมั่งคั่งของราชวงศ์ฝรั่งเศสในขณะนั้น
สำหรับพื้นที่สวนของพระราชวังได้รับการออกแบบโดย André Le Nôtre ในปี ค.ศ. 1661 โดยมีเอกลักษณ์ที่สำคัญ คือ มีความสมมาตร เป็นระเบียบเรียบร้อย ใช้รูปทรงเรขาคณิตที่ตรงไปตรงมา รวมถึงการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ อย่างประณีต ตามแบบฉบับฝรั่งเศส ในปัจจุบันพระราชวังแวร์ซายส์ และพื้นที่สวน มีอายุเกือบ 400 ปี
Place de la Concorde
ใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬา :
บาสเกตบอล 3×3
เบรกแดนซ์
จักรยาน BMX
สเกตบอร์ด
ปลัส เดอ ลากงกอร์ด เดิมทีสถานที่แห่งนี้ได้รับการออกแบบให้เป็นที่ตั้งของพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1748 โดยพ่อค้าชาวปารีส ถือเป็นเป็นจัตุรัสขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญมากที่สุดของกรุงปารีส โดยเป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1789
โดยใช้เป็นสถานที่ประหารชีวิตผู้มีชื่อเสียงหลายคน รวมทั้งการสำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส และพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต ในปัจจุบัน ปลัส เดอ ลากงกอร์ด มีอายุ 276 ปีแล้ว
Les Invalides
ใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬา :
ยิงธนู
กรีฑา
ปั่นจักรยาน
เลแซ็งวาลีด หรือ แต่เดิมเรียกว่า ออแตล เด แซ็งวาลีด (Hôtel national des Invalide) เป็นหมู่อาคารสถาปัตยกรรมบาโรก สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ปี ค.ศ. 1678 เพื่อเป็นสถานพยาบาล และที่พำนักของทหารผ่านศึก นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของศาสนสถาน และสุสานของวีรบุรุษนักการทหารของชาติ อาทิ สุสานของนโปเลียน โบนาปาร์ต
ในยุคนี้เลแซ็งวาลีดถูกปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์การทหารของฝรั่งเศส โดยในปัจจุบันมีอายุ 346 ปีแล้ว
Pont Alexandre-III
ใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬา :
ปั่นจักรยาน
ว่ายน้ำมาราธอน
ไตรกีฬา
สะพานปงอาแล็กซ็องดร์-ทรัว เป็นสะพานโค้งพาดผ่านแม่น้ำแซน ที่เชื่อมต่อฝั่งหอไอเฟลกับฝั่งช็องเซลีเซเข้าด้วยกัน ตัวสะพานสร้างช่วง ปี ค.ศ. 1896-1900 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตนูโว โดยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแด่สมเด็จพระจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย ที่ได้ตกลงสัญญาพันธมิตรระหว่างฝรั่งเศส และรัสเซีย
สะพานนี้ถือเป็นความสำเร็จทางวิศวกรรมแห่งยุคศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างยิ่ง โดยการสร้างสะพานโค้งแบบไม่มีเสา ตัวสะพานสูง 6 เมตร ทำจากเหล็กกล้า ออกแบบโดยโฌแซ็ฟ กาเซียง-แบร์นาร์ และกัสตง กูแซ็ง โดยมีข้อแม้ว่าห้ามบดบัง ทัศนียภาพของช็องเซลีเซ และเลแซ็งวาลีดโดยเด็ดขาด ในปัจจุบันตัวสะพานปงอาแล็กซ็องดร์-ทรัว มีอายุ 124 ปีแล้ว
อ้างอิง
แปลและเรียบเรียงโดย
© InnovatorX
תגובות