อย่างที่ทราบกันว่าวัสดุก่อสร้างกับวัสดุตกแต่งสำหรับการออกแบบอาคารและสถาปัตยกรรม ล้วนก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแทบจะทุกกระบวนการที่ก่อสร้างก็ว่าได้ครับ และเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายๆ บริษัทผู้ผลิตวัสดุในอุตสาหกรรมนี้จำเป็นต้องหาวิธีพัฒนาและปรับปรุงให้ตัวผลิตภัณฑ์มีการปล่อยคาร์บอนให้ต่ำลง เพื่อช่วยให้ไม่เกิดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ไม่ให้โลกเดือดไปมากกว่าและเพื่อให้มีวัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืน โดยไม่ทำร้ายโลกครับ
ซึ่งก่อนหน้านี้ Net Zero X มีการพูดคุยถึงวัสดุคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Materials) ว่าถ้าหากเราใช้วัสดุกลุ่มนี้แล้วจะช่วยโลกอย่างไรได้บ้าง โดยในครั้งนี้เราจะย้อนกลับมาที่วัสดุดั้งเดิมอย่าง “ไม้ (Wood)” ครับ ว่าทำไมไม้ถึงเรียกว่าเป็นวัสดุที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ มีองค์ประกอบมาจากอะไรบ้าง และคุณสมบัติของวัสดุคาร์บอนต่ำต้องเป็นอย่างไร
สำหรับสิ่งที่จะชี้วัดในบทความนี้ว่าแบบไหนถึงเรียกว่าวัสดุคาร์บอนต่ำ Net Zero X จะขอเทียบจากการวัดแบบนี้ครับ ถ้า A คือ วัสดุที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆ ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือที่มักใช้การประเมินแบบ LCA เทียบการปล่อยคาร์บอนดูแล้วพบว่า A มีการปล่อยคาร์บอนที่น้อยกว่าวัสดุ B ก็จะเรียกว่า A เป็นวัสดุคาร์บอนต่ำครับ ซึ่งเป็นเพียงการอ้างอิงแบบหนึ่งเพื่อให้เห็นภาพของเล่าเนื้อหาในบทความนี้นะครับ
ดังนั้นแล้วเราเลยจะมาดูว่า A หรือ วัสดุไม้ ที่เราตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม้ถึงเป็นวัสดุที่ปล่อยคาร์บอนต่ำกันนะ? นั่นก็เพราะเหตุผลตามนี้
1. เพราะดูดซับมากกว่าปล่อยคาร์บอน
- เนื่องจากต้นไม้มีคุณสมบัติที่จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง แล้วเปลี่ยนคาร์บอนที่ได้เป็นเนื้อไม้ ซึ่งจะถูกเก็บไว้ในรูปของสารอินทรีย์ (เช่น เซลลูโลส) ในเนื้อเยื่อของต้นไม้ โดยคาร์บอนที่ถูกกักเก็บในไม้จะคงอยู่ในวัสดุไม้ตราบเท่าที่ไม้ยังไม่ถูกเผา, เน่าเสีย, ย่อยสลายหรือถูกทำลาย และถ้าหากนำไม้มาสร้างบ้าน คาร์บอนที่เก็บอยู่ในเนื้อไม้จะยังคงอยู่ในโครงสร้างบ้านเป็นเวลาหลายสิบปีหรือแม้กระทั่งหลายร้อยปี การใช้ไม้เป็นวัสดุก่อสร้างจึงช่วยลดปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ
2. ใช้พลังงานในการผลิตหรือแปรรูปที่ต่ำ
- การแปรรูปไม้ให้มีสภาพพร้อมใช้งานด้านการก่อสร้างหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ด้านการตกแต่ง รวมถึงเป็นเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งและสินค้าในรูปแบบอื่นๆ มักใช้พลังงานการผลิตที่น้อยกว่าวัสดุทั่วไป เช่น เหล็ก, คอนกรีต, พลาสติก, กระเบื้อง เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนการผลิตของวัสดุที่กล่าวมา ต้องผ่านกระบวนการใช้พลังงานจากฟอสซิลที่เป็นเชื้อเพลิงหรือพลังงานไฟฟ้าในปริมาณที่สูงและปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก ในขณะที่การผลิตไม้ใช้พลังงานในกระบวนการแปรรูปน้อยกว่าอย่างมาก รวมถึงปล่อยคาร์บอนโดยรวมต่ำกว่า
3. สามารถใช้งานได้ยาวนานและรีไซเคิลได้
- ด้วยประโยชน์ของไม้ที่นำมาแปรรูปได้ทุกส่วนและยังไม้สามารถนำมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง เช่น การนำไม้เก่าจากอาคารเก่ามาใช้ในการสร้างอาคารใหม่ เป็นวิธีรีโนเวทด้วยการออกแบบจากวัสดุเก่า ไม่ต้องใช้วัสดุที่ผลิตใหม่ทั้งหมด เพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่และการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตใหม่ ที่สำคัญไม้มีความงามที่เป็นเอกลักษณ์ ตอนที่สภาพยังใหม่ก็มีความสวยในแบบที่ดูทันสมัย น่าใช้งาน ทว่าเมื่อผ่านการใช้และนำมาทำความสะอาดใหม่กลับให้ความรู้สึกที่ดูทรงคุณค่า มีความงามไปอีกแบบ ดูวินเทจหรือคลาสสิคแบบฉบับเดิม จะตกแต่งแบบประยุกต์ร่วมสมัยก็ทำได้
4. ลดผลกระทบจากการขนส่ง
- ในส่วนการปล่อยคาร์บอนจากการขนส่ง ถ้าเทียบกับวัสดุโครงสร้างหนักๆ อย่างคอนกรีตหรือเหล็ก ไม้มักจะเบากว่าทำให้การขนส่งวัสดุไม้ใช้พลังงานน้อยกว่าและปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า ประเด็นนี้อาจดูไม่เกี่ยวข้องด้านก่อสร้างนัก แต่ในเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งในประเทศไทยนับว่าสูงมาก และการบรรทุกของหนักไว้บนรถ คือตัวการที่ทำให้รถขนส่งกินน้ำมันมากขึ้น เพราะเครื่องยนต์ต้องใช้แรงเพิ่มขึ้นในการขับเคลื่อน ดังนั้นถ้ามีเราขนส่งของที่น้ำหนักเบาลงก็จะช่วยใช้พลังงานจากเชื้องเพลิงน้อยลง รวมถึงไม่ปล่อยคาร์บอนออกมามากอีกด้วย
5. ฟื้นฟูป่าไม้และสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
การปลูกต้นไม้ใหม่มาทดแทนช่วยหมุนเวียนทรัพยากรป่าไม้ให้ยังคงเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนได้ต่อเนื่อง เพราะการที่เราฟื้นฟูป่าหรือปลูกป่าใหม่ทดแทนจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวบนโลก ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ และต่อยอดไปถึงเรื่องของ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการปล่อยของเสียและควบคุมทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น หากมองในมุมเศรษฐกิจแล้วการหันมาใช้วัสดุไม้จึงตอบโจทย์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
และทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อสรุปที่รวบรวมมานะครับ เพื่อนๆ คิดว่านอกจากนี้แล้ววัสดุไม้ยังมีคุณสมบัติหรือประโยชน์ด้านไหนที่ช่วยลดคาร์บอนได้อีกบ้างครับ
ขอขอบคุณข้อมูล
.
ขอบคุณรูปประกอบ
Comentarios