ทราบกันไหมครับว่าปูนซีเมนต์นั้นมีส่วนผสมมาจากอะไรบ้าง? และการจะได้มาซึ่งส่วนผสมที่เอามาใช้ทำเป็นปูนซีเมนต์ล้วนก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาลขนาดไหน Net Zero X มีนวัตกรรมด้าน Low Carbon Material อย่างหนึ่งที่น่าสนใจจาก บริษัท C-Crete Technologies บริษัทวิทยาศาสตร์วัสดุชั้นนำในแคลิฟอร์เนีย จากประเทศสหรัฐฯ อเมริกา ที่เน้นการพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่มีคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างและการผลิตคอนกรีต ได้มีการพัฒนา “ปูนซีเมนต์หินแกรนิต” ที่มีคุณสมบัติลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นปัญหาหลักของการผลิตคอนกรีตทั่วไป
และนี่คือปูนซีเมนต์หินแกรนิตที่ทีมวิจัยของบริษัทนี้คิดค้นขึ้นมากับการพัฒนาปูนซีเมนต์ชนิดใหม่ที่เปลี่ยนวัตถุดิบหลักในการผลิตจากหินปูนมาเป็นหินแกรนิต รวมถึงเปลี่ยนทั้งวัสดุหลักที่ใช้งานและกรรมวิธีการผลิต สู่คอนกรีตชนิดใหม่ที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกต่อไป
เมื่อเทียบกับการผลิตปูนซีเมนต์แบบเดิม การจะทำให้โครงสร้างแข็งแรงอาคาร มีความทนทาน ส่วนใหญ่ปูนซีเมนต์ทำจากวัตถุดิบที่มีแคลเซียม เช่น หินปูน, ดินเหนียวหรือตะกอนจากธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการบดและการเผาด้วยความร้อนสูงในเตาเผาให้เกิดสารเคมีที่แข็งตัวเมื่อสัมผัสกับน้ำ โดยเรียกว่า ปฏิกิริยาความชื้น (hydration reaction) และประเภทของปูนซีเมนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดก็คือ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เพราะกระบวนการผลิตมีสองขั้นตอนหลักที่ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนออกมาอย่างมาก ได้แก่
1. ปฏิกิริยาเคมีการสลายตัวของหินปูน
หินปูน (CaCO₃) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ เมื่อถูกเผาที่อุณหภูมิสูง จะเกิดปฏิกิริยาแยกตัวออกเป็นแคลเซียมออกไซด์ (CaO) ที่เป็นองค์ประกอบหลักของปูนซีเมนต์ และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) โดยกระบวนการนี้เรียกว่า calcination หรือการสลายตัวด้วยความร้อน จึงปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสูงถึง 60% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจากการผลิตปูนซีเมนต์
2. การใช้พลังงานความร้อนสูงในเตาเผา
เนื่องจากต้องใช้เตาเผาที่อุณหภูมิประมาณ 1,450 องศาเซลเซียส ทำให้ใช้พลังงานมหาศาล และพลังงานนี้ได้จากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากวัสดุเหล่านี้ อาทิ ถ่านหิน, น้ำมันและก๊าซธรรมชาติทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงนั่นเอง
C-Crete Technologies จึงพัฒนานวัตกรรมปูนซีเมนต์ชนิดใหม่ขึ้นมา จากเดิมแล้ว วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์สำหรับก่อสร้างที่เป็น “หินปูน” ซึ่งต้องผ่านความร้อนจากการเผาในระดับที่สูงมากนั้น ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นการใช้ “หินแกรนิต” แทน แล้วผสมเข้ากับวัสดุชนิดอื่นพร้อมผ่านกรรมวิธีเฉพาะของทางบริษัท จนกระทั่งหินแกรนิตสามารถแปรสภาพเป็นผงปูนแบบที่พร้อมใช้งาน เพียงนำปูนซีเมนต์หินแกรนิตนี้ไปผสมน้ำก็สามารถนำไปใช้งานได้เหมือนปูนซีเมนต์ทั่วไปครับ
มีการทดสอบใช้งานพบว่าปูนซีเมนต์หินแกรนิตมีความละเอียด มีการซึมผ่านน้ำและระยะเวลาในการเซ็ตตัวไปจนถึงตรวจสอบพื้นผิวหลังจากที่แห้งแล้ว ผลปรากฏว่าใกล้เคียงกับคอนกรีตแบบปกติ ในด้านคุณสมบัติเองก็มีประสิทธิภาพเทียบเท่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ โดยมีความแข็งแรงในการรับแรงอัดสูงกว่า 5,000 psi และยังตรงตามมาตรฐานในส่วนของความทนทานและคุณสมบัติเชิงกล ตามมาตรฐานของ ASTM International หรือ สมาคมทดสอบวัสดุแห่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยแบบเดียวกับปูนตามท้องตลาด
เท่ากับว่าปูนซีเมนต์จากหินแกรนิตนี้มีคุณสมบัติไม่แตกต่างจากปูนซีเมนต์จากหินปูน และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการใช้ปูนซีเมนต์หินแกรนิตนี้ไปฉาบคอนกรีตร่วมกับการต่อเติม ในพื้นที่ขนาด 12 ลูกบาศก์หลา (9.2 ลูกบาศก์เมตร) เพื่อทำเป็นแผ่นชั้นบนบริเวณล็อบบี้บนของตึกอาคาร 270 Park Avenue ในนิวยอร์ก ที่เป็นตึกสูงระฟ้าด้วยความสูง 423 เมตร และคาดว่าจะมีการนำไปใช้งานเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต
อาคาร 270 Park Avenue เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ระดับโลกแห่งใหม่ของ JPMorgan Chase บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนําระดับโลกและได้รับการออกแบบจากบริษัทสถาปนิกชื่อดังอย่าง Foster + Partners และดำเนินการก่อสร้างโดย Severud Associates Consulting Engineering บริษัทวิศวกรรมที่ปรึกษาชั้นนำในสหรัฐอเมริกา
ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่น่าจับตามองครับว่า “ปูนซีเมนต์หินแกรนิต” จะสามารถช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้มากน้อยแค่ไหน และจะเข้ามามีบทบาทช่วยแก้ปัญหาอุตสาหกรรมการก่อสร้างได้อย่างยั่งยืนหรือไม่
ขอขอบคุณข้อมูล : www.posttoday.com | www.thailand-business-news.com
และรูปประกอบจาก : https://ccretetech.com | https://newatlas.com