ขณะที่ธนาคารหลายแห่งเริ่มมีนโยบานการปรับตัวให้เข้ากับกระแสของ Net Zero เพื่อดำเนินการเรื่องสินเชื่อให้กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วงเวลาเดียวกันเองนั้น ทางธนาคารก็มีการปรับตัวเหมือนกัน เช่นเดียวกับธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์ (Development Bank of Singapore : DBS) หรือที่เรียกสั้นๆว่า ธนาคาร DBS
ในปี ค.ศ.2022 ที่ผ่านมา ธนาคาร DBS มีการเปิดตัว DBS Newton Green ที่เป็นอาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Building) แห่งแรกของสิงคโปร์ และเพื่อต้องการช่วยผลักดันให้มีอาคารเขียวเพิ่มมากขึ้นคิดเป็น 80% ตามพื้นที่ภาพรวมในประเทศสิงคโปร์ภายในปี ค.ศ.2030
โครงการ DBS Newton Green เป็นการรีโนเวทปรับปรุงอาคารเดิมที่อายุ 30 กว่าปี ให้มีรูปโฉมใหม่และการรีโนเวทนี้จะต้องลดการปล่อย Embodied Carbon ให้น้อยลง ซึ่ง Embodied Carbon คือการปล่อยคาร์บอนออกมาตั้งแต่กระบวนการผลิตวัสดุ ไปจนถึงการขนส่งวัสดุนั้นๆ และลงมือก่อสร้างจนสำเร็จเป็นอาคารพร้อมใช้งาน นี่จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายภาคธุรกิจธนาคารเป็นอย่างมากจะทำการรีโนเวทอย่างไรให้กลายเป็น Net Zero Building
ธนาคาร DBS เริ่มปรับปรุงช่วงกลางปีค.ศ. 2021 โดยลงทุนมากกว่า 5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และในกระบวนการนี้ ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง ทางธนาคารได้รับทุนจาก Building and Construction Authority (BCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลของสิงคโปร์ ภายใต้โครงการ Green Buildings Innovation Cluster (GBIC) แห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการบูรณาการนวัตกรรมสีเขียวตลอดการพัฒนาอาคารแห่งนี้
สำหรับการออกแบบ Net Zero Building ของ DBS Newton Green มีอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น สรุปได้ดังนี้ :
1. ใช้วัสดุ Sustainable material ที่เรียกว่า 'NEWBitumen' จากบริษัท Magorium เพื่อปูถนนรอบๆ อาคาร โดย NEWBitumen ผลิตมาจากขยะพลาสติกรีไซเคิลทำให้ช่วยลดปริมาณของ waste ต่างๆ ยังใช้งานได้มีประสิทธิภาพไม่แพ้ยางมะตอยแบบเดิมๆ
2. การออกแบบพื้นที่ส่วนหน้าของอาคารมากกว่า 50% ให้ปกคลุมไปด้วยต้นไม้และออกแบบผนังไม้ระแนงที่ทำจากไม้ไผ่ไว้บังแสงแดดให้ตัวอาคาร พร้อมทั้งช่วยระบายอากาศให้ถ่ายเทได้เป็นธรรมชาติ เพราะไม่ใช้ระแนงแบบปิดทึบ ที่สำคัญไม้ไผ่เป็นวัสดุธรรมชาติจึงมีค่า embodied carbon ที่ต่ำกว่าเหล็กหรือคอนกรีต
3. ต่อยอดมาจากข้อ 2 นอกจากจุดประสงค์ที่ต้องการลดอุณหภูมิภายในอาคารแล้ว การใช้วัสดุไม้ไผ่และมีต้นไม้แซมตามจุดต่างๆของ Façade กลายเป็นที่หลบภัยสำหรับผีเสื้อและนกสายพันธุ์พื้นเมือง เป็นการอนุรักษ์ระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางเมืองสิงคโปร์
4. ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากกว่า 1,000 ตารางเมตรที่บนหลังคา และนำพลังงานที่ได้มาแปรเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในอาคาร จากเดิมที่อาคารเก่าใช้พลังงานประมาณ 845,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี เมื่อเปลี่ยนใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จึงช่วยประหยัดไฟไปได้เยอะ
5. การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์สำนักงานจากร้านค้าในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการจัดซื้อแบบหมุนเวียน แลกเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ปรับปรุงสภาพด้วยการซ่อมแซมและตกแต่งใหม่ โดยไม่ต้องนำไปทิ้งให้กลายเป็นขยะทั้งชิ้น ช่วยลดปริมาณขยะจากการรีโนเวทไปได้อีกอย่าง
และไม่ได้มีแค่การออกแบบหรือเลือกใช้อุปกรณ์สำนักงานเท่านั้นที่ช่วยเรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ที่ DBS Newton Green มีจัดตั้งตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่มีขนมจาก Plant-based เพื่อเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่สนใจรับประทานอาหารด้านสุขภาพ ทั้งยังช่วยลดโลกร้อนได้ด้วย เพราะว่าการผลิตอาหาร Plant-based เป็นระบบผลิตอาหารจำพวกผักและผลไม้ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสัตว์แต่อย่างใด จึงไม่มีการปล่อยก๊าซมีเทนจากมูลสัตว์แล้ว ก๊าซมีเทนนี่เองที่เป็นก๊าซเรือนกระจกประเภทหนึ่ง ดังนั้นเท่ากับว่าถ้ารับประทานอาหารจากพืช ก็มีส่วนช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปจาก
ติดต่อลงโฆษณา หรือ ติดต่อธุรกิจได้ที่
Line OA : @innovatorx
Bình luận