ปัจจุบันนี้ทั่วโลกต่างจับตามองและให้ความสำคัญกับปัญหาและพยายามควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกเฉลี่ยเกิน 1.5 -2.0 องศา ทั่วโลกจึงมีการออกมาตรการหรือกฎหมายต่างๆ
ดังเช่น ทางฝั่งยุโรปที่มีการออกกฎหมาย CBAM การเก็บภาษีคาร์บอนในการส่งสินค้าเข้ายุโรป เพื่อให้องค์กรหรือบริษัทมีการควบคุมดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศจึงทำให้องค์กรทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยของเราต้องมีการปรับตัวและค้นหาเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการควบคุมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในองค์กรอุตสาหกรรมก่อสร้างอาคารและบ้านต่างๆ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกมากที่สุด
และหลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินคำศัพท์ที่กำลังมาแรงคำหนึ่ง คือ “Climate Tech” มาจากสื่อและแหล่งข่าวอื่นๆ มากขึ้น คำนี้จะมีความหมายถึงอะไร บทความนี้จะเล่าให้ฟัง
Climate Tech ก็คือ เทคโนโลยีที่ควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ปัญหาโลกรวนหรือโลกร้อนโดยเทคโนโลยีนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
1. Carbon Capture Storage (CCS) คือ การดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกักเก็บ โดยมีวิธีการอยู่ 3 วิธีหลัก ได้แก่
1.1 การเปลี่ยนก๊าซเป็นของแข็งและกักเก็บในรูปแบบแร่
1.2 การเปลี่ยนก๊าซเป็นของเหลว และกักเก็บในมหาสมุทร ปัจจุบันวิธีนี้ไม่ได้รับการยอมรับ เนื่องจากส่งผลระยะยาวกับทะเล
1.3 การจัดเก็บในชั้นธรณี คือ การดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยความดันและทำการสูบอัดลงสู่ใต้ดิน
2. Carbon Capture Utilization (CCU) คือ การใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้ และมีวิธีการอยู่ 3 วิธีหลัก คือ
2.1 การนำไปใช้ประโยชน์โดยตรง เช่น ใช้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน, อุตสาหกรรมเครื่องดื่มน้ำอัดลม โซดา, อุตสาหกรรมอาหาร เป็นตัวทำละลาย เป็นต้น
2.2 การนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการแปลงเป็นเชื้อเพลิง เช่น ก๊าซมีเทน (Methane) หรือไดเมทิลอีเทอร์ (DME)
2.3 ใช้ประโยชน์ด้วยการแปลงเป็นสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น การแปลงไปเป็นเมทานอล ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีการนำเข้าอันดับต้นๆ ของประเทศไทย หรือการแปลงสภาพจากขยะไปเป็นวัสดุที่มีโครงสร้างทางคาร์บอน อย่างเช่น กราฟีน
และในแวดวงของการออกแบบงานสถาปัตยกรรมและอาคารที่ต้องปรับตัวตามไปด้วยความจำเป็นด้านกฏหมาย การที่มีนวัตกรรม Climate Tech สามารถนำไปประยุกต์เพื่อช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้ทั่วโลก โดยมุ่งมั่นสู่การออกแบบในอนาคตถึงความเป็น Net Zero Building ซึ่งมี 4 ประเด็นใหญ่ๆ ที่ต้องคำนึงถึง ดังนี้
1. Process : กระบวนการออกแบบและการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
2. Material Science : การศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านวัสดุศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ
Low Carbon Material
3. Waste Management : การจัดการขยะและการหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ
4. Energy Saving : นวัตกรรมการใช้อาคารประหยัดพลังงาน เพื่อช่วยการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในอาคารให้ได้มากที่สุด
การจะทำหลักการ 4 ประการข้างต้นให้สำเร็จได้จึงต้องมีฮีโร่สำคัญ คือ Climate Tech เทคโนโลยี Carbon Capture Utilization (CCU) ที่เป็นนวัตกรรมดักจับและนำคาร์บอนมาสร้างประโยชน์มากมายแก่วงการก่อสร้างบ้าน อาคารและอสังหาริมทรัพย์
เทคโนโลยี CCU สามารถพัฒนาวัสดุคาร์บอนตํ่า (low carbon material) ด้วยการนำขยะเหลือทิ้งมาแปลงเป็นกราฟีน ซึ่งนับว่าเป็นวัสดุมหัศจรรย์ของโลก และตอนนี้ในต่างประเทศได้เริ่มมีการนำกราฟีนมาผสมเพิ่มความแข็งแรงของคอนกรีตและสามารถลดปริมาณการใช้ซีเมนต์ลงได้ถึง 23 % หรือที่เรียกว่า Super low carbon concrete (อิงจากข้อมูลของ UNEP 2020 พบว่าซีเมนต์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 8% จากปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก)
นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยี CCU ในการแปลงขยะเป็นกราฟีนยังช่วยในด้านการจัดการและลดปัญหาปริมาณขยะล้นพื้นที่หรือไซต์งานก่อสร้าง (waste management) ได้อีกด้วย
ดังนั้นในการออกแบบหรือก่อสร้างอาคาร เพื่อเตรียมความพร้อมนำไปสู่ยุค Net Zero Carbon Emission ภายในปี 2065 การใช้ Climate Tech โดยเฉพาะเทคโนโลยี Carbon Capture Utilization (CCU) จึงเข้ามาเป็นกลไกที่สำคัญที่มีบทบาทในการออกแบบวางแผนสร้างอาคาร บ้าน หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ให้พัฒนาได้อย่างยั่งยืนและยังคงรักษาและรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และโลกของเรา
อ้างอิง
โดย Baramizi Climate Tech
Comentários