top of page
Writer's pictureInnovatorX

ทำไมอาคาร Net Zero ถึงนิยมใช้โครงสร้างไม้หรือวัสดุไม้เป็นหลัก



ช่วงหลังมานี้ หลายประเทศมีการเลือกใช้ไม้เพื่อเป็นโครงสร้างของงานก่อสร้างอาคาร เพื่อช่วยในการลดคาร์บอนให้ได้น้อยที่สุด จากปัจจุบันที่ใช้ปูนซีเมนต์เป็นหลัก ซึ่งซีเมนต์เป็นวัสดุที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 8% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก


ในสัดส่วนของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อุตสาหกรรมก่อสร้างมีการปล่อยสูงถึง 39% ของการปล่อยจากอุตสาหกรรมทั้งหมด และจาก 39% นี้ เมื่อเทียบดูแล้วพบว่าเป็นคาร์บอนที่มาจากการใช้พลังงานในอาคาร (Operation Carbon) คิดเป็น 28% กับคาร์บอนจากวัสดุก่อสร้างและช่วงเวลาก่อสร้าง (Embodied Carbon) คิดเป็น 11%


ขยายความเพิ่มสักเล็กน้อย Embodied Energy คือ พลังงานสะสมตั้งแต่กระบวนการผลิตวัสดุ ไปจนถึงการขนส่งวัสดุนั้นๆ รวมถึงการก่อสร้างเป็นอาคาร จึงเป็นที่มาของ Embodied Carbon ที่หมายถึง คาร์บอนที่มาจากวัสดุก่อสร้างและช่วงการก่อสร้างอาคาร


ด้วยความที่ไม้เป็นวัสดุจากธรรมชาติ สามารถปลูกทดแทนและนำกลับไปใช้งานได้เรื่อยๆ ทั้งนำไปใช้งานได้ทันที ไม่มีขั้นตอนแปรรูปมากนัก หรืออย่างมากก็อาจมีขั้นตอนเตรียมสภาพพื้นผิววัสดุให้พร้อมใช้งาน แต่เมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์แล้วที่ต้องผ่านขั้นตอนหลายกระบวนการเพื่อนำเศษแร่ธาตุต่างๆ มาผลิตเป็นปูนซีเมนต์ จึงทำให้ค่า Embodied Carbon มีสูงมากเมื่อเทียบกับไม้


ด้วยเหตุนี้เอง “ไม้” จึงกลายเป็นที่นิยมอีกครั้งสำหรับการก่อสร้างอาคาร Net Zero

แล้วไม้จะต่อยอดสร้างเป็นอาคารได้มากน้อยแค่ไหนกัน?


InnovatorX มี Case Study งานออกแบบอาคารที่น่าสนใจที่ใช้ โครงสร้างไม้ (Timber Construction) มาแชร์เป็นไอเดียและบางทีไม่แน่ว่าแนวโน้มเทรนด์การออกแบบด้วยโครงสร้างคอนกรีตจะลดน้อยลง ขณะที่โครงสร้างไม้จะมีเพิ่มมากขึ้น!


เพราะ Case ที่จะเห็นต่อไปนี้ เป็นผลงานของบริษัท Shigeru Ban Architects ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการใช้ไม้ในการก่อสร้างอย่างสร้างสรรค์มากว่า 35 ปี ที่นำทัพโดยคุณ Shigeru Ban (ชิเงรุ บัน) สถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่น



ชื่ออาคาร : Centre Pompidou

ชนิดอาคาร : พิพิธภัณฑ์

พื้นที่ : 11,330 ตารางเมตร

ทำเล : เมือง Metz (เมตซ์) ประเทศฝรั่งเศส


รูปทรงของอาคารที่ดูร่วมสมัยนี้คือจุดเด่นที่ทำให้พิพิธภัณฑ์ Centre Pompidou (ปงปีดู) ดูตระการตาและมีการเลือกใช้ไม้ลามิเนตนำมาสานเป็นลักษณะแปดเหลี่ยมเพื่อรองรับกับ form ที่โค้งเว้าเป็นคลื่นๆ ด้วยลักษณะของเส้นสายที่สานไขว่กันทำให้โครงสร้างไม้สามารถดัดโค้งได้ แต่ก็ยังรับน้ำหนักของโครงสร้างอื่นๆ ได้ด้วย ตัวหลังคานี้ถูกห่อหุ้มด้วยวัสดุไฟเบอร์กลาสที่มีคุณสมบัติโปร่งแสง และเคลือบด้วยสารเทฟล่อน ให้ทนทานต่ออุณหภูมิทั้งร้อนและเย็น และช่วยป้องกันแสง UV ได้ด้วยอีกด้วย



ชื่ออาคาร : Swatch Headquarters

ชนิดอาคาร : สำนักงานใหญ่

พื้นที่ : 11,000 ตารางเมตร

ทำเล : เมือง Biel (บีล) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


สำนักงานใหญ่ของแบรนด์ผู้ผลิตนาฬิกาดังอย่าง Swatch กับรูปทรงแปลกตาที่มีการใช้ไม้สนลายกริด ตั้งวางไปตามสรีระของโครงสร้างเรียงต่อๆ กันเป็นแพทเทิร์นเพื่อให้โครงสร้างไม้มีความแข็งแรง มั่นคง และเกิดเป็นความสวยงามในเวลาเดียวกัน ซึ่งความน่าสนใจของอาคารนี้ อยู่ที่หลังคาจะมีการสลับวางระหว่างวัสดุกระจก, façade ลายไม้ และแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อนำไม้กับเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดพลังงานมาผนวกเข้าด้วยกัน


และนี่ก็คือ 2 Case ตัวอย่างของการนำไม้มาใช้ออกแบบอาคาร อีกไม่นาน อาคารประหยัดพลังงานในบ้านเราหรือ Net Zero Building คงใช้ไม้กันมากขึ้น เพราะช่วยลดเรื่องการปล่อยคาร์บอนและไม้ยังทนทานใช้งานได้อย่างยาวนานอีกด้วย กระซิบบอกว่าทั้งสองโปรเจกต์ที่เห็นนั้นก็ออกแบบมาสักพักรวมๆ แล้ว เกือบสิบปี แต่อาคารยังดูสวยงามร่วมสมัย ไม่ตกยุคอยู่เลย


สุดท้ายนี้ขอแนะนำสำหรับใครที่กำลังหาไอเดียออกแบบอาคารโครงสร้างไม้ โปรเจกต์ที่ Shigeru Ban Architects เคยออกแบบมานั้น เขาได้รวบรวมผลงานมากมายกว่า 30 โปรเจกต์ลงในเล่มหนังสือ Shigeru Ban Timber in Architecture


 

อ้างอิง

Shigerubanarchitects | Designboom

Archdaily | Watchsiam

Dsignsomthing | RISC

Commentaires


bottom of page